ยินดีต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่บทความชุด Blockchain Series บทความที่จะนำผู้อ่านทุกท่านดำดิ่งลงไปในโลกของเทคโนโลยี Blockchain ทั้งที่มา วิธีการทำงานและการนำไปใช้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เรียนอะไรหรือทำงานอะไรอยู่ ผู้เขียนรับประกันว่าหลังจากที่อ่านบทความแต่ละตอนจบแล้วมุมมองที่คุณมีเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และโลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าพร้อมแล้วยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของ Blockchain ณ บัดนี้
จุดเริ่มต้นการปฎิวัติไร้ศูนย์กลาง
เมื่อย้อนดูช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะสังเกตเห็นว่าสังคมมนุษย์ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชา ภาพรวมของการพัฒนาเกิดจากการหลอมรวมผู้คนที่อาศัยอยู่ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน มีการค้าขาย แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองวิธีคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนในสังคมนั้นๆ มีความเชื่อมันและการไว้วางใจของกันและกัน ซึ่งในอดีตสิ่งที่ทำหน้าที่ในการรับประกันว่าทุกคนในสังคมสามารถเชื่อมั่นและไว้วางใจคนอื่นๆ ได้ สิ่งนั้นคือ ศาสนา บทบัญญัติที่ชัดเจนของศาสนาที่ว่าด้วยบทลงโทษในชีวิตหลังความตายของผู้กระทำในสิ่งที่ศาสนาห้าม เช่น การขโมย การฆ่าผู้อื่น บทบัญญัติเหล่านี้เองที่หลอมรวมคนจากหลายวัฒนธรรม หลายชนเผ่าเข้าด้วยกันและยังเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมที่มีขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
เมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ก็ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการมีผู้ปกครองสังคมโดยที่อำนาจของผู้ปกครองเป็นโองการจากสวรรค์ชั้นฟ้า ซึ่งก็ถอดออกมาจากบทบัญญัติของศาสนาอีกทีหนึ่ง ดังนั้นผู้ปกครองเปรียบเสมือนผู้ถืออำนาจศักสิทธิ์และผู้คนในสังคมก็ต่างเชื่อมั่น ต่างก็ไว้วางใจในอำนาจนั้นทำให้ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมได้ไม่ต่างกับศาสนาอีกต่อไป การมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมเกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้าขาย เนื่องจากก่อนหน้านี้การค้าขายยังใช้แบบ Barter System หรือ การแลกเปลี่ยนสินค้าที่ทุกคนเชื่อมั่น ไว้วางใจว่าอีกคนจะไม่โกงเพราะทุกคนเชื่อในบทบัญญัติของศาสนา
สถาณการณ์ตัวอย่างที่ 1
สมชายต้องการปลามาทำซูชิสำหรับอาหารเย็น แต่ตอนนี้มีแค่ข้าว 1 กระสอบ ในขณะที่สมศรีต้องการข้าวมาทำข้าวผัด แต่ตอนนี้มีแค่ปลา 3 ตัว ซึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สมชายกับสมศรีจะมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันเพราะต่างก็มีสินค้าส่วนเกินและยังจะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการอีก
แต่หากขยายสถานการณ์ให้ซับซ้อนกว่านี้อีกเราจะสังเกตเห็นปัญหาบางอย่างใน Barter System
สถาณการณ์ตัวอย่างที่ 2
สมชายต้องการปลามาทำซูชิสำหรับอาหารเย็น แต่ตอนนี้มีแค่ข้าว 1 กระสอบ ในขณะที่สมศรีกำลังลดอาหารอยู่และตอนนี้มีปลาเหลืออยู่ 3 ตัว จะไม่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่สมชายมีสมศรีไม่ได้ต้องการทำให้สถานการณ์นี้คนที่เสียใจที่สุดคงจะเป็นสมชาย T_T
หากสถาณการณ์ตัวอย่างที่ 2 มีผู้คนมากกว่า 2 คนจะเกิดปัญหาใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือสังคมจะต้องมี ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และบทบาทสำคัญของผู้ปกครองคือ การใช้อำนาจอันศักสิทธิ์ประกาศบอกผู้คนในสังคมให้ยอมรับตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ผู้ปกครองคิดขึ้นมาและรับรองว่ามันเป็นสิ่งที่มีมูลค่าพร้อมด้วยบทลงโทษผู้ที่กระทำการปลอมแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ก้อนหิน เปลือกหอย เกลือ ทองคำ แร่ อัญมณีและอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้ปกครองรับรองว่าสามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจึงถือกำเนิดขึ้น
โลก ณ ปัจจุบันตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการก็คือ ธนบัตร ที่ทุกประเทศต่างก็รับรองในลักษณะเดียวกันกับผู้ปกครองทำในอดีต โดยสิ่งที่เปลี่ยนคือสิ่งของที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางเช่น จากหิน แร่ กลายมาเป็นธนบัตรกระดาษ แต่สิ่งที่ยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยนนับจากอดีตเรื่อยมาคือ ผู้คนในสังคมยังจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจและมอบอำนาจให้ผู้ปกครองหรือรัฐบาลของตนอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะน้อยลงกว่าเดิมหรือไม่มีแล้วก็ตาม
อำนาจที่ไม่ศักสิทธิ์และความเชื่อมั่นที่ลดลง
การมอบอำนาจบางประการให้ผู้ปกครองหรือรัฐบาลก็เพื่อที่ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ผู้คนมีจะสามารถกลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ผ่าน สัญญาประชาคม หรือ Social contract แต่ก็แน่นอนว่าการมอบอำนาจการตัดสินใจบางประกาศให้กับบุคคลใด บุคคลหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาลต่างก็ย่อมมีข้อเสียหากการตัดสินใจผิดพลาดในสถานณการณ์ที่ไม่ควรผิดพลาดหรือกระทำบางอย่างที่ไม่ควรทำโดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะแน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและทำให้ผู้คนตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นมากขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อ 70 ปีก่อน
ในปี 1944 มีการประชุมหารือระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรลงนาม Bretton Woods Agreements เพื่อที่จะให้แต่ละประเทศยกเลิกการกำหนดค่าเงินเองหรือจะเป็นการใช้ทองคำหนุนหลังเปลี่ยนมาเป็นการผูกติดอัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศตนกับสกุลเงินดอลล่าห์สหรัฐโดยที่ให้สกุลเงินดอลล่าห์สหรัฐเพียงสกุลเดียวที่มีทองคำหนุนหลัง แต่ในปี 1971 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเห็นสิ่งผิดปกติในมูลค่าของดอลล่าร์สหรัฐเพราะมูลค่าของมันสูงเกินความเป็นจริงเมื่อเทียบกับทองคำที่หนุนหลัง จนกระทั่งประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐประกาศเลิกใช้ระบบทองคำหนุนหลังเงินดอลล่าร์สหรัฐ แน่นอนว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจที่รัฐบาลมีและคำถามจะย้อนกลับไปสู่ถึงสิ่งที่เป็นบทบาทของรัฐบาลนั้นคือการรับประกันความเชื่อมั่นว่า การมอบอำนาจให้ผู้ปกครอง รัฐบาลหรือการรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้จริงๆหรือเปล่า ? แล้วถ้ามีวิธีการอื่นที่สามารถรับประกันความเชื่อมั่นได้แต่ไม่ได้รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง วิธีการแบบนั้นมันดำเนินการอย่างไร ? ไม่มีใครทราบจนกระทั่ง …
ในช่วงเดือนกันยายนปี 2008 สถานบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริการต่างก็ล้มสลายจากพิษภัยของ Subprime mortgage crisis หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้เกิดคำถามต่อความเชื่อมั่นของสถานบันทางการเงินทั้งหลายไม่ต่างอะไรกับคำถามที่มีต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครอง กระทั่งได้มี whitepaper หรือ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เผยแพร่ออกมาผ่านเครือข่ายอีเมลโดยใช้ชื่อว่า Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System และระบุว่าเขียนโดย Satoshi Nakamoto
แผ่นกระดาษเปลี่ยนโลก | Bitcoin Whitepaper
Abstract – A purely peer-to-peer version of electronic cash would allow online payments to be sent directly from one party to another without going through a financial institution …
สิ่งที่กล่าวไว้ 3 บรรทัดแรกของบทคัดย่อใน Whitepaper ฉบับนั้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ามีวิธีการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเกิดขึ้นโดยตรงระหว่าง ผู้ส่งและผู้รับโดยปราศจากการผ่านสถาบันทางการเงิน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ มีตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ไม่ต้องมอบอำนาจให้กับผู้ปกครอง รัฐบาลหรือสถาบันทางการเงินเป็นผู้กำกับดูแลอย่างที่ผู้คนต่างกังวลใจถึงความเชื่อมั่นเหมือนแต่ก่อน งั้นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมก่อนหน้านี้สถาบันทางการเงินถึงมีความสำคัญกับการจัดเก็บรักษาเงิน การโอนเงินหรือการแลกเปลี่ยนเงินตรากัน
ความเชื่อมั่นผ่านอินเทอร์เน็ต
การมาของยุคอินเทอร์เน็ตนับจากปี 2000 เป็นต้นมาส่งผลเกิดให้การทำธุรกิจผ่านโลกออนไลน์กันมากขึ้นเห็นได้ชัดจากบริษัท E-commerces ยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Amazon Alibaba และอีกนับร้อยธุรกิจต่างก็ยกขึ้นมาทำกันผ่านสมรภูมิออนไลน์ ธนาคารเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะแน่นอนว่าก่อนหน้านี้ธนาคารเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบตรงที่ในเมื่อตลาดการค้าขายออนไลน์มีมากขึ้น การโอนเงินออนไลน์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน ตัวกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่เมื่อก่อนความเชื่อมั่นอยู่ในรูปของกายภาพเช่น ธนบัตร ทองคำ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความเชื่อมั่นก็กลายมาเป็นรูปแบบดิจิทัลและบทบาทของธนาคารก็มากขึ้นกว่าเดิมอีกในเรื่องที่ต้องเป็นตัวกลางในการรับประกัน
สถานการณ์ตัวอย่าง
หากนาย A มีเงินอยู่ 100 youngcoins ต้องการซื้อของจากนาย B 100 youngcoins นาย A ก็ดำเนินการโอนผ่านแอปธนาคาร ธนาคารก็จะทำการหักเงินในบัญชีนาย A 100 youngcoin แล้วเพิ่มเงินใส่บัญชีนาย B
การจดบันทึกจำนวนเงินทั้งหมดหรือถึงการยืนยันธุรกรรมจะเกิดขึ้นที่ธนาคาร เพราะไม่ว่าจะเป็นนาย A หรือ นาย B ต่างก็มีความเชื่อมั่นต่อธนาคารว่าจะไม่มีการโกงเกิดขึ้นซึ่งไม่ว่าการโอนเงินจะเกิดในรูปแบบกายภาพอย่างเช่นธนาคารมอบเงินให้โดยตรงหรือเกิดในรูปแบบดิจิทัลผ่านทางอินเทอร์เน็ตบทบาทของธนาคารก็ยังเหมือนเดิมคือ เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ธนาคารประกาศว่าทุกคนสามารถเชื่อมั่นได้ ดังนั้นโมเดลการดำเนินงานในลักษณะนี้จึงถูกเรียกว่า Centralized Model เหตุนี้เองการมาของ Bitcoin Whitepaper ฉบับนี้ถึงมีความสำคัญ
Bitcoin ธนาคารไร้ศูนย์กลาง
ก่อนหน้าการมาของอินเทอร์เน็ตตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างก็อยู่ในรูปกายภาพที่สามารถจับต้องได้ มีการพยายามสร้างตัวกลางเหล่านั้นให้อยู่ในรูปดิจิทัลและสามารถใช้งานได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่าการจะทำแบบนั้นได้วิธีหนึ่งคือเราอาจจะให้ธนาคารเป็นศูนยกลางในการรับประกันความเชื่อมั่นเหมือนที่เกิดขึ้นกับรูปกายภาพ เช่น ธนบัตร ทองคำ แต่ก็มีอีกวิธีหนึ่งที่ Bitcoin Whitepaper ได้เสนอไว้เป็นวิธีที่แก้ปัญของการจำเป็นต้องมีตัวกลางในการรับประกันความเชื่อมั่นและทุกคนสามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่มีการโกงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะวิธีการทั้งหมดนี้ทำงานอยู่บนหลักคณิตศาสตร์ที่ไม่ว่าคุณเป็นใคร ใหญ่มาจากไหนก็ไม่มีทางขัดขืนคณิตศาสตร์ได้อย่างแน่นอน
โปรดติดตาม Blockchain Series ในตอนต่อไป
รูปภาพประกอบ